ขันตอนการทอผ้ามัดหมี่สวยๆ

ผ้าทอบ้านป่าแดงนั้น ความกว้างของหน้าผ้าจะกว้างมากกว่าผ้าของที่อื่น ลวดลายผ้าทอพื้นเมืองคล้าย ๆ กับผ้าพื้นเมืองในท้องที่อื่น ๆ ในประเทศไทย เป็นลวดลายที่ทำกัน มาแต่บรรพบุรุษ ลายดอกพิกุล ลายข้าวหลามตัด ลายนกกระจิบ ลายเครือเถา ลายเรขาคณิต และประเภทพิเศษที่มีตัวอักษรตามที่ลูกค้าสั่ง อาจดัดแปลงเองบ้าง ตามตัวอย่างมาจากที่อื่นบ้าง ประยุกต์แต่งเติมให้เป็นแบบของตน แต่ละครอบครัวจะมีความชำนาญแตกต่างกัน ชาวบ้านป่าแดงตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพทอผ้า ได้มีการอนุรักษ์ สืบทอดให้กับบุตรหลาน ปัจจุบันโรงเรียนวัดป่าแดง ได้จัดหลักสูตรการทอผ้าซึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย(ป.๕-๖) และมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนวิชาการทอผ้า สอนโดย นางนาตยา มะโนเครื่อง ซึ่งนับว่าเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์การทอผ้าบ้านป่าแดงอีกวิธีหนึ่ง และเมื่อทอเสร็จส่งจำหน่ายศูนย์ทอผ้าบ้านป่าแดง ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และคณะครู นักเรียนโรงเรียนวัดป่าแดงอนุรักษ์การใช้เสื้อผ้าทอ ในวันพุธอีกด้วย เป็นการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด ตลอดจนสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน

การทอผ้าหรือ "การทอ" ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นกรรมวิธีการผลิตผืนผ้าโดยใช้เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนมาขัดประสานกันจนได้เป็น ผืนผ้า ทั้งนี้ต้องมีเครื่องมือในการทอ เรียกว่าหูกหรือ กี่

อุปกรณ์การผลิต

เฝือ ทำหน้าที่ ขึ้นด้ายยืนเพื่อเรียงเส้นด้าย ให้ได้ขนาดหน้าผ้าที่ต้องการ

ฟันหวี (ฟืม) ทำหน้าที่ ร้อยเส้นด้ายให้เรียงกัน

กังหัน ทำหน้าที่ หมุนด้ายยืนที่สะดวกในการทอ

ไม้ก้ามปู ทำหน้าที่ บังคับความกว้างของการเก็บตะกอ

ไม้ทะนัด และไม้แซ่ ทำหน้าที่ รองรับเส้นด้ายย้ายจากการเก็บตะกอ

กรง ทำหน้าที่ สำหรับมัดหมี่

กี่กระตุก ทำหน้าที่ ทอผ้า

ขั้นตอนการทอผ้า

ขั้นตอนที่ ๑ การกรอด้าย

การกรอเส้นด้ายหรือการปั่นกรอเส้นด้าย เข้าในหลอด (ท่อพลาสติก) มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ด้ายหลอดเล็ก จะใช้สำหรับทอผ้าพื้น ด้ายหลอดใหญ่ให้เป็นด้ายยืน

ด้ายหลอดใหญ่หรือด้ายยืนนั้น ช่างจะใช้เวลาปั่นกรอทั้งหมด ๗๖ หลอด ใช้ด้าย ๑,๑๒๐ เส้น จะได้ความกว้างของหน้าผ้าเมื่อทออกมาแล้วประมาณ ๓๙ นิ้วครึ่ง เป็นขนาดมาตรฐาน แต่เดิมเครื่องกรอเส้นด้ายยืนนี้เรียกว่า ไน และระวิง หรือหลากรอเส้นด้าย ใช้มือหมุน แต่ปัจจุบันช่างได้คิดค้นโดยนำมอเตอร์ไฟฟ้าของจักเย็บผ้ามาใช้ การกรอด้ายช่างจะไล่ด้ายขึ้น ลง สลับหัว ท้ายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ด้ายที่พันมีความเสมอกัน

ขั้นตอนที่ ๒การเดินด้ายยืน หรือค้นเส้นด้ายยืน

-นำหลอดด้ายใหญ่ทั้งหมดไปตั้งบนแผงที่มีขาตั้งหลอดมีความยาวประมาณ ๑๐ เมตร

-นำปลายเส้นด้ายทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนขาตั้งหลอดมามัดรวมกันแล้วดึงไปมัดกับแคร่เดินเส้นด้าย เดินเส้นด้ายโดยใช้ไม้ปลายแหลมตรึงเส้นด้ายเข้ากับหลักค้น ทั้งเที่ยวขึ้นและเที่ยวลงจนครบ ทุกหลัก

เมื่อเดินเส้นด้ายครบแต่ละเที่ยวจะต้องเก็บไขว้เส้นด้ายด้วยการใช้หัวแม่มือเกี่ยวเส้นด้ายแล้วนำไปคล้องกับหลักเก็บไขว้

- เดินเส้นด้ายและเก็บไขว้เส้นด้ายสลับกันไป จนครบตามความต้องการ จากนั้นนำเส้นด้ายออกจากเครื่องเดินด้ายแล้วถักเส้นด้ายรวมกัน

- เส้นด้ายที่ออกจากหลักเก็บไขว้ สอดเข้าฟันหวีจนครบทุกเส้น โดยใช้ไม่ไผ่แบน ๆ สำหรับคล้องเส้นด้ายเข้ากับฟันหวี

ขั้นตอนที่ ๓การร้อยฟันหวี หรือการหวีเส้นด้าย

การหวีเส้นด้าย คือการจัดเรียงเส้นด้าย และตรวจสอบเส้นด้ายไม่ให้ติดกันหรือพันกันจนยุ่งก่อนที่จะนำเข้าเครื่องทอนำเส้นด้ายที่เดินครบทุกเส้นมาพันเข้ากับหลักบนม้าก๊อบปี้ ตอกสลักม้าก๊อปปี้ให้แน่น

จากนั้นช่างร้อยฟันหวี จะทำหน้าที่คัดเส้นดายออกทีละเส้น เพื่อให้ด้ายตรงกับช่องฟันหวีแล้ว นำเส้นด้ายมาร้อยใน ไม้ร้อยฟันหวีซึ่งมีลักษณะโค้งงอเหมือนเคียว แต่อันเล็กกว่าจะเป็นเหล็กหรือไม้ไผ่ก็ได้) โดยนำมาสอดร้อยเข้าไปในฟันหวีที่ละเส้นจะเริ่มจากด้านซ้ายไปขวา โดยฟันหวีนี้จะมีทั้งหมด ๑,๑๒๐ ซี่ ความยาวเท่ากับ ๔๓ นิ้วครึ่ง ความกว้างของหน้าผ้า ประมาณ ๓๙ นิ้วครึ่ง

เมื่อร้อยเส้นด้ายเข้าฟันหวีเสร็จแล้ว ช่างจะดึงเส้นด้ายมาพันเข้ากับใบพัดม้วนด้ายหรือม้ากังหัน จากนั้นช่างจะดันฟันหวีจากม้ากังหันเข้าไปหาม้าก็อปปี้พร้อมกับใช้ไม้แหลมแหลมเส้นด้ายให้แยกออกจากกัน ป้องกันเพื่อไม่ให้เส้นด้ายพันกัน โดยจะกรีดเส้นด้ายจากใบพัดม้วนจนถึงตัวม้าก็อปปี้ เสร็จแล้วปล่อยสลักม้า ก็อปปี้ หมุนเส้นด้ายพันเข้ากับพัดจนครบหมดทุกเส้น แล้วนำม้วนด้ายที่ได้รับการหวีเสร็จแล้วมาวางบน กี่ ” (เครื่องทอผ้า)

ขั้นตอนที่ ๔การเก็บตะกอ

การเก็บตะกอเป็นการเก็บด้ายยืน โดยจะนำด้ายที่ผ่านการหวีมาแล้ว และใช้ด้ายขวา ๘๐ % ซึ่งเป็นด้ายที่มีความมันน้อย มาร้อยสลับด้ายยืน เพื่อทำหน้าที่สลับเส้นด้ายขึ้น- ลง โดยใช้เครื่องมือที่เป็นไม้ไผ่ เรียกว่า ไม้ก้ามปูมาใช้ในการเก็บตะกอ

ขั้นตอนการเก็บตะกอ

- นำม้วนด้ายที่ได้รับการหวีมาแล้ว วางบนเครื่องทอผ้า (กี่) โดยวางม้วนด้ายให้เข้ากับสลักของเครื่องทอ

- นำปลายเส้นด้ายมารวมกันทุกเส้นแล้วดึงมาผูกกับไม้รองเท้าด้านบนเครื่องทอผ้าให้ตึงแน่นเสมอกันทุกเส้น

- ใช้ด้ายสีขาว ๘๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับเก็บตะกอแล้วผูกติดกับไม้ที่ใช้เท้าเหยียบให้เส้นด้ายสามารถขยับขึ้นลงได้

การเก็บตะกอผ้านี้ ช่างจะกลับม้วนด้ายยืนด้านบนขึ้นเพื่อทำการเก็บตะกอด้านล่างก่อนเพราะการเก็บตะกอด้านล่างจะเก็บยากกว่าด้านบน เมื่อเสร็จแล้วจึงจะเก็บด้นบนที่หลัง

ขั้นตอนที่ ๕การมัดลายมัดหมี่ (การเตรียมมัดหมี่)

- ลายผ้าที่สวยงามจะต้องได้รับการออกแบบอย่างถูกต้อง หรือมีการคิดค้นประยุกต์ลายให้เหมาะสมก่อที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้า การออกแบบลายผ้ามีอุปกรณ์ ๓ อย่าง คือ สมุดกร๊าฟ ๑ เล่ม ดินสอดำ ยางลบ สีเทียน ๑ กล่อง การออกแบบมีขั้นตอนดังนี้

๑) ออกแบบผ้ามัดหมี่บนกระดาษกร๊าฟด้วยดินสอดำ ตามแต่จะต้องการแต่ละลาย เช่น

- มัดหมี่ชนิด ๓ ลำ

- มัดหมี่ชนิด ๕ ลำ

- มัดหมี่ชนิด ๗ ลำ

- มัดหมี่ชนิด ๙ ลำ

- มัดหมี่ชนิด ๑๓ ลำ

- มัดหมี่ชนิด ๑๕ ลำ

- มัดหมี่ชนิด ๒๕ ลำ

 

๒) ระบายสีตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ด้วยสีเทียนเพื่อให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

วิธีการค้นลายผ้ามัดหมี่ และมัดหมี่ทำได้โดย

- นำเส้นด้ายสำหรับมัดหมี่ มาเข้าหลักมัดหมี่โดยสอดสลักเข้าไปที่หัวและท้ายแล้วขึงให้ตึงกับหลักทั้ง ๒ ข้าง เอาเชือกฟางมัดด้ายหมี่ตามที่ออกแบบไว้ การมัดนี้เพื่อป้องกันสีไม่ให้ซึมผ่านบริเวณที่ถูกมัดสีที่ติดอยู่จะติดอยู่กับบริเวณที่ไม่ถูกมัด

ขั้นตอนที่ ๖การย้อมด้ายมัดหมี่

๑) ต้มน้ำในกะละมังให้เดือดประมาณ ๕ นาที ผสมสีเคมีตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ของแต่ละประเภท คนสีเคมีให้ละลายเข้ากับน้ำเดือดที่ต้มไว้

๒) นำเส้นด้ายหมี่สีขาวที่มัดเชือกฟางเสร็จแล้วมาแช่ในน้ำเปล่าธรรมดา เพื่อเส้นด้ายหมี่อิ่มตัว เพื่อเวลาย้อมเส้นหมี่ สีจะได้ซึมเข้าไปในเส้นด้ายทั้งด้านใน และ นอกเสมอกันทั้งเส้น

๓) นำด้ายมัดหมี่ที่ทำการมัดลายที่ต้องการย้อมแต่ละสีต้องการใส่ในกะละมังที่ผสมสีเคมีไว้ แล้วเพื่อทำการย้อม ระหว่างย้อมให้ใช้ไม้ไผ่คนด้ายหมี่กลับไป มาตลอดเวลา เพื่อให้สีที่ต้องการย้อมซึมเข้าเส้นหมี่เสมอกันทุกเส้นไม่กระดำกระด่างไว้เวลาประมาณ ๕ ๑๕ นาที จึงนำด้ายหมี่ขึ้นล้างด้วยน้ำเย็นนำไปซักตากให้แห้ง

๔) นำด้ายหมี่ที่ย้อมสีเสร็จแล้วไปตากแดดผึ่งให้แห้งสนิท นำมาแกะเชือกฟางออกเพื่อนำมัดหมี่มามัดลายเพื่อย้อมสีอื่นที่ต้องการอีกต่อไป นำอย่างนี้จนครบจำนวนสีต้องการ การย้อมด้ายหมี่นี้จะย้อมจากสีอ่อนไปหาสีแก่เช่น สีเหลือง แดง เขียวฯลฯ

ขั้นตอนที่ ๗การปั่นหมี่

เมื่อได้เส้นด้ายหมี่ตามสีที่ย้อมแล้ว นำด้ายหมี่มาแกะเชือกฟางออกจะนำด้ายหมี่มาใส่เครื่องกรอด้าย โดยนำปลายเส้นด้ายหมี่พันรอบหลอดด้ายพุ่ง (เป็นหลอดเล็ก ๆ ) ใส่เป็นรูปกรวยเรียงซ้อนกัน ตามลำดับโดยจะเรียงจากด้านล่างขึ้นบนไปเรื่อย ๆ การกรอด้ายหมี่จะกรอที่ละหลอด เมื่อเติมหลอดด้ายพุ่งแล้วจึงกรอใส่หลอดอื่น ๆ ต่อไป ด้ายหมี่แต่ละหลอดนั้น นอกจากจะเรียงลำดับจากด้านล่างขึ้นด้านบนแล้วจะต้องใส่เข้ากับเชือกห้อยเรียงไว้ตามลำดับก่อน หลัง จึงจะทอเป็นลายผ้าหมี่ได้ถูกต้อง

ขั้นตอนที่ ๘การทอผ้าเป็นผืนผ้า

นำหลอดด้ายมัดหมี่ที่กรอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใส่กระสวยสำหรับทอผ้า ซึ่งควรเลือกกระสวยที่มีปลายแหลมทั้งหัวและท้าย ผิวเรียบ นำกระสวยด้ายพุ่งใส่รางกระสวย ใช้มือกระตุกพาเส้นด้ายวิ่งผ่านไปมาให้ขัดกับเส้นด้ายยืน ดึงฟันหวีกระแทกใส่เส้นด้ายพุ่งกับเส้นด้ายยืนแน่นยิ่งขึ้น ใช้เหยียบไม้พื้นที่ผูกติดกับตะกอด้ายให้สลับขึ้นลงโดยให้สัมพันธ์กับการใช้มือกระตุกให้กระสวยพาด้ายวิ่งผ่านไปมา ขัดกับเส้นด้ายยืน เมื่อได้ผ้าทอเป็นผืนแล้วใช้กรรไกรตัดตกแต่งผืนผ้าทีมีเส้นด้ายซึ่งเป็นเศษด้ายริมขอบผ้าให้สวยงามจึงได้ผ้าทอมือที่สวยงาม

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

๑.คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

ผ้าถือเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่นอกเหนือจากอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ในสังคมเกษตรกรรมตั้งแต่บรรพบุรุษสืบมา ทุกครัวเรือน จะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอยภายในครอบครัว และมีการถ่ายทอดและสั่งสมกรรมวิธีการทอให้แก่สมาชิกที่เป็น เพศหญิง เพราะการทอผ้าเป็นการศิลปะที่ต้องใช้ทั้งความขยัน ความอดทน ความพยายาม และความประณีตละเอียดอ่อน แม่หรือยายจะเป็นผู้ทำหน้าที่อบรมและถ่ายทอดวิชาการกรรมวิธี และประสบการณ์ในการทอผ้าให้แก่บุตรสาวหรือหลานสาว จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ผ้าทอ นอกจากจะนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่มห่มแล้ว ยังได้ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น เกี่ยวข้องกับพิธีเกิดโดยหมอตำแยจะได้ของกำนัลของพ่อแม่ของเด็กที่เกิดใหม่เป็นผ้าทอในพิธีบวชนาค นาคจะสวมใส่ผ้าขาวหรือผ้าโสร่งผืนใหญ่ที่แม่ทอเตรียมไว้ให้ลูกชาย ผู้หญิงต้องเตรียมผ้าทอไว้ใช้ในพิธีแต่งงานของตน เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผ้าทอยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงฐานะของผู้สวมใส่หรือแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้นั้น ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอไทยให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยะธรรมประเทศต่อไป

๒.บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันโรงเรียนวัดป่าแดง ได้จัดหลักสูตรการทอผ้าซึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย(ป.๕-๖) และมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนวิชาการทอผ้า สอนโดยนางสาวสุพัตรา ปัญญายงค์ ซึ่งนับว่าเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์การทอผ้าบ้านป่าแดงอีกวิธีหนึ่ง และเมื่อทอเสร็จส่งจำหน่ายศูนย์ทอผ้าบ้านป่าแดง ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และคณะครู นักเรียนโรงเรียนวัดป่าแดงอนุรักษ์การใช้เสื้อผ้าทอในวันพุธอีกด้วย เป็นการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด ตลอดจนสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน

มาตรการในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

- การอนุรักษ์ ฟื้นฟู (ระบุวิธีดำเนินงาน พื้นที่ ชุมชน ระยะเวลา และงบประมาณ) คณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดป่าแดง ร่วมอนุรักษ์ผ้าทอด้วยการแต่งกายด้วยผ้าทอในวันพุธ

- การสืบสานและถ่ายทอด (ระบุวิธีดำเนินงาน พื้นที่ ชุมชน ระยะเวลา และงบประมาณ) โรงเรียนวัดป่าแดง ได้จัดทำหลักสูตรการทอผ้าซึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย(ป.5- 6) และมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนวิชาการทอผ้า

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

จังหวัดพิจิตร สร้างเสริมอัตลักษณ์การแต่งกายด้วยผ้าทอของจังหวัดพิจิตร รวมถึงเพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ผ้าทอท้องถิ่นให้คงอยู่ในแผ่นดินสืบไปและยังสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับผ้าทอในจังหวัด จึงกำหนดจัดกิจกรรมการรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง จังหวัดพิจิตร และกำหนดให้มีการสวมใส่ผ้าทอของจังหวัด ดังนี้

๑. การสวมใส่ผ้าทอลายดอกบุญนาค(สีเขียว) ทุกวันพุธ

๒. การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองจังหวัดพิจิตร ทุกวันศุกร์

๓. การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดพิจิตร

๔. ประชาสัมพันธ์ผ้าพื้นถิ่น ผ่านการเดินแฟชั่นในงานประจำปีต่าง ๆ

รายชื่อผู้สืบทอดหลัก

๑. กลุ่มทอผ้าบ้านป่าแดง นางสังวร เหลืองสนิท เลขที่ ๒๗๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทรศัพท์ ๐๘๙ ๒๗๒๑๖๐๔

๒. ร้านผ้าทอศิริพันธ์ นางวิลาวัลย์ ดวงผัด เลขที่ ๒๓๔ หมู่ที่ ๖ ตำบลหนองพยอมอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทรศัพท์ ๐๕๖ ๘๔๕๐๖๓, 093 5596639

๓. ร้านผ้าทอทองคูณ นางทองคูณ ปัญญายงค์ เลขที่ ๒๕๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน

๔. นางสาวสุพัตรา ปัญญายงค์ โรงเรียนวัดป่าแดง หมู่ที่ ๖ ตำบลหนองพยอม อ.ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทรศัพท์ ๐๘๙ ๘๕๖๖๐๘๓

. นางสาวรุ้งลาวัลย์ สุขไมตรี เลขที่ ๓๘๔  หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองพะยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

โทรศัพท์ ๐๖๒ ๘๒๓ ๖๖๒๖

 

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page

การท่องเที่ยวตำบลหนองพยอม